“ของเล่น” เป็นสื่อที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก ช่วยทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และช่วยเรื่งความสนุกสนานอีกด้วย แต่อย่าเพิ่งซื้อของเล่นเด็กให้ลูก

ถ้าพ่อแม่ยังไม่รู้ว่าของเล่นเด็กมีกี่แบบและแบบไหนเหมาะกับลูกเรา นี่คือ 5 ประเภทของเล่นเด็กเสริมพัฒนาการที่พ่อแม่ต้องรู้ เลือกได้ถูก เล่นได้นาน ไม่เปลืองเงินซื้อของเล่นบ่อยๆ
ประเภทของของเล่นเด็ก
1.ของเล่นที่ให้เด็กได้ออกแรง (Active play)
ประเภทกีฬา เช่น ลูกบอล จักรยานสามล้อ อุปกรณ์ยิมนาสติก ประโยชน์คือ เสริมสร้างร่างกายและกล้ามเนื้อให้แข็งแรง อาจจะรวมถึงอุปกรณ์กีฬา เช่น ไม้แบตมินตันสำหรับเด็ก
2.ของเล่นที่เด็กต้องสร้างขึ้นและควบคุมการเล่นเอง (Manipulative play)
เด็กๆ สามารถต่อ หรือประกอบให้เป็นรูปร่างได้ เช่น เลโก้ ไม้บล็อก จิ๊กซอว์ หรือโมเดลชุดหุ่นยนต์ ประโยชน์คือ ฝึกกล้ามเนื้อมือ และช่วยฝึกทักษะทางด้านคณิตศาสตร์ อย่างการก่อทรายหรือการต่อไม้บล็อก เด็กจะต้องคำนวณให้ฐานใหญ่เพื่อที่ยอดด้านบนจะไม่ล้ม
3.ของเล่นที่เลียนแบบของจริง (Make-Belive play)
เช่น ชุดจำลองอุปกรณ์ทำครัว ชุดเครื่องมือหมอ และชุดแต่งตัวตุ๊กตาบาร์บี้ เป็นต้น ประโยชน์คือ ฝึกทักษะให้เด็กได้ใช้ของเหมือนจริงเพื่อเติมเต็มจินตนาการ เอื้อให้การเล่นบทบาทสมมติของเด็กสมบูรณ์แบบขึ้น
4.ของเล่นส่งเสริมจินตนาการ (Creative play)
คือ ของเล่นประเภท สีน้ำ สีไม้ แป้งโด ดินน้ำมัน หรือเครื่องดนตรี ประโยชน์คือ ส่งเสริมจินตนาการของเด็กให้บรรเจิด
5.ของเล่นเพื่อการเรียนรู้ (Learning play)
คือ ของเล่นเพื่อการพัฒนาทักษะ เช่น นิทาน หรือเกม ประโยชน์คือ ตอบสนองการเรียนรู้ที่ไม่หยุดยั้งของเด็กวัยคิดส์ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องเล่นด้วยเพื่อให้ของเล่นนั้นสัมฤทธิ์ผลและไม่ควรเลือกของเล่นที่ยากเกินกว่าเขาจะเข้าใจนะคะ อาจจะเริ่มต้นด้วยเกมเศรษฐี หรือเกมบันไดงู
วิธีซื้อของเล่นเด็กให้คุ้มทั้งเงินและประโยชน์กับลูก
- เหมาะกับวัยเจ้าตัวเล็ก โดยดูจากสัญลักษณ์ที่ระบุไว้ข้างกล่อง
- มาตรฐานการันตี สังเกตเครื่องหมาย มอก. (มาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรม) เป็นเครื่องหมายที่ใช้ในประเทศไทย
- แข็งแรงทนทาน ไม่ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนหรือวัสดุที่แตกง่าย ตัวกล่องบรรจุของเล่นต้องแข็งแรงและทนทาน เพื่อสามารถป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับของเล่น
- วัสดุที่นำมาประกอบต้องไม่เป็นชิ้นเล็กๆ ที่หลุดออกง่าย ของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ต้องไม่เกิดความร้อนมากเกินไป ไม่เสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าดูด ไม่ใช้ไฟเกินกว่า 24 โวลต์ หลีกเลี่ยงของเล่นที่ต้องใช้ความรุนแรงหรือมีเสียงดังเกิน 85 เดซิเบลในการเล่น เช่น ปืน หรือประทัดที่อันตรายและก่อเสียงดังทำลายหู สีและพลาสติกที่ใช้ต้องไม่มีส่วนผสมของสารตะกั่ว ปรอท โครเมียม สารหนู พลวง แบเรียม แคดเมียม หรือมีในปริมาณที่มอก.วางมาตรฐานไว้
- ชัดเจนด้วยคำอธิบาย บนกล่องของเล่น ระบุถึงส่วนประกอบและวัสดุที่ใช้ทำของเล่น รวมไปถึงโรงงานที่ผลิต ถ้าเป็นของเล่นนำเข้า ต้องมีบริษัทหรือโรงงานที่นำเข้าของเล่น และมีคำอธิบายการเล่นอย่างละเอียดด้วย เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดและใช้งานผิดวัตถุประสงค์นั่นเอง โดยได้ดังนี้
- ถ้าเป็นของเล่นที่เลียนแบบเครื่องป้องกันตัว เช่น หมวกกันน็อก หรือแว่นตาที่เลียนแบบนักวิทยาศาสตร์ จะต้องมีข้อความเตือนเหล่านี้ “ไม่สามารถใช้ป้องกันอันตรายได้เหมือนของจริง” “ไม่สามารถใช้ป้องกันแสงอุลตร้าไวโอเลตได้” “อย่าวางใกล้วัตถุไวไฟหรือใกล้ความร้อน” “อย่ายิงใกล้ตาหรือหู”